Letter from an Unknown Woman (1948)
- myfavfilms
- 5 เม.ย. 2557
- ยาว 1 นาที
Letter from an Unknown Woman (1948)
ทั้งที่สถิตย์อยู่ใน IMDb มาตั้งหลายปี แต่ผมเพิ่งจะรู้จักหนังเรื่องนี้ครั้งแรกจากการโหวต 100 หนังโรแมนติกของนิตยสาร TIMEOUT โดย 'จดหมายจากผู้หญิงที่ไหนไม่รู้' อยู่อันดับ 14 ของลิสนี้ (3 อันดับแรกคือ Brief Encounter, Casablanca และ In the Mood for Love)
'สเตฟาน แบรนด์' (Louis Jourdan) อดีตนักเปียโนผู้มีชื่อเสียงกลับมาเก็บของที่อพาร์ทเม้นต์ของเขาเพื่อเตรียมหนีออกจากเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงการประลองดาบ แต่แล้วคนดูแลห้องพักของเขาก็มอบจดหมายจาก 'ผู้หญิงที่เขาจำไม่ได้' ที่เขียนโดย 'ลิซ่า' (Joan Fontaine) ซึ่งเธอได้เขียนบอกเล่าเรื่องราวที่เธอแอบรักเขาสมัยยังเด็ก ได้อยู่กับเขาหนึ่งคืนตอนสาว และการพบเจออีกครั้งเมื่อเธอแต่งงานใหม่แล้ว ซึ่งจดหมายฉบับนี้จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เขาเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด
ตอนดูจบผมถึงขั้นแปลกใจมากว่าทำไมหนังเรื่องนี้ถึงได้รับการพูดถึงน้อยกว่าหนังโรแมนติกในยุคเดียวกันอย่าง Brief Encounter, Casablanca หรือแม้กระทั่ง A Matter of Life and Death เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งหนังที่ผมรู้สึกว่ามัน 'underrated' อยู่พอสมควรเลยครับ
สามเหตุผลที่คุณไม่ควรพลาดหนังเรื่องนี้
1. มุมมองความรักจากฝั่งผู้หญิง
- หนังเรื่องนี้เล่าเหตุการณ์ด้วยมุมมองสายตาของ 'ลิซ่า' ที่มีต่อชายหนุ่มที่เธอหลงรัก ตอนที่ผมนั่งดูช่วงต้นเรื่องนี่แอบคิดว่ามันคงมาแนวหนังรักเพ้อฝันแบบนิยายแจ่มใสนะ เพราะช่วงวัยรุ่นคือเรื่องของเด็กสาวที่แอบรักนักดนตรี เคลิ้มเสียงเปียโนของเขาโดยไม่เคยได้พูดคุยกัน เริ่มฟังโมสาร์ทอะไรแบบนั้น เธอสนใจเขาแม้จะรู้ว่าเขาควงสาวมาห้องไม่ซ้ำหน้าในแต่ละคืน แต่พอแม่ของลิซ่าจะแต่งงานใหม่แล้วต้องย้ายเมืองเท่านั้นแหละรู้เลยว่าหนังเรื่องนี้มันต้องโคตรดราม่าอีกเรื่อง ฉากนี้ 'ลิซ่า' แอบหนีจากสถานีรถไฟเพื่อมาบอกลาชายหนุ่มแต่กลับต้องเห็นภาพเขาควงผู้หญิงกลับห้องอีกแล้ว
ผมชอบความรักของลิซ่าอยู่อย่างหนึ่งคือ 'เป็นความรักที่ไม่เรียกร้องอะไร' อาจจะบอกว่ากึ่ง ๆ เป็น melodrama น้ำเน่าก็ไม่ผิดนัก อารมณ์นางเอกมีความสุขแค่ได้รักเขา ไม่ได้ต้องการตามหาครอบครองหรือแสดงความเป็นเจ้าของ แม้กระทั่งตอนที่ไม่ได้ติดต่อกัน 10 ปีเธอก็ยังตั้งชื่อลูกเป็นชื่อของเขา และภูมิใจที่ลูกมีพรสวรรค์เหมือนพ่อ น้ำเน่าเนอะ ฮ่าๆๆ (คือมันเป็นหนังยุค 40s เลยรู้สึกว่ามันตามสมัยนิยม แต่ถ้ายุค 2000s ยังทำหนังแบบนี้นี่ไม่ไหวนะ ฮ่าๆๆ)
ทีเด็ดมันอยู่ตรงช่วงที่เธอแต่งงานใหม่แล้วดันมาเจอเขาอีกครั้งในรอบ 10 ปี เป็นช่วงวัดใจว่าเขาจะจำเธอได้ไหม แล้วเธอจะตัดใจจากเขาเพื่อเลือกสามีใหม่ที่ดีกับเธอและลูกได้หรือไม่ ช่วงนี้มันเป็นอะไรที่ค่อนข้างดราม่ามากทีเดียวครับ
2. good plot, screenplay better, STORYTELLING is the best
- ผมชอบพล็อตหนังเรื่องนี้มาก โครงสร้างหลวม ๆ ของโศกนาฏกรรมรัก (tragedy movies) โดยใช้วิธีเล่าเรื่องผ่านจดหมายบรรยายเหตุการณ์แฟลชแบ็กย้อนหลังมันน่าสนใจดี ผมสนใจตั้งแต่เห็นชื่อหนังแล้วครับว่ามันต้องมีอะไรซึ้ง ๆ แน่นอน
อย่างไรก็ตามแค่ 'พล็อตดี' มันไม่พอครับ มันต้องมีบทภาพยนตร์ที่ต่อยอดพล็อตหลวม ๆ ให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง มีจุดเริ่มต้นมีจุดจบที่ลงตัว มีช่วงความสัมพันธ์ที่ทำให้คนดู 'อิน' ไปกับความรักของลิซ่า และที่สำคัญในเมื่อเป็นหนังที่มีตัวละครหลักเพียงแค่สองคน การสร้างมิติความเปลี่ยนแปลงของตัวละครจึงเป็นสิ่งสำคัญที่หนังต้องทำให้คนดูรู้สึกเชื่อถือในการตัดสินใจต่าง ๆ ของตัวละคร ซึ่งหนังสอบผ่านครับสำหรับหนังโรแมนติกดราม่าสักเรื่องหนึ่งแล้ว ผมให้บทภาพยนตร์ Letter from an Unknown Woman อยู่ในขั้นยอดเยี่ยมครับ
ที่สำคัญคือ 'storytelling' ช่วงการตัดสินใจของตัวละครมันใช้การเล่าเรื่องในฉากก่อน ๆ หน้าได้คุ้มค่าครับ
• อย่างฉากสนทนาบนรถไฟจำลองนี่ผมก็ไม่คิดนะว่ามันจะไปมีผลต่อการตัดสินใจครั้งสุดท้ายของลิซ่า
• หรือแม้กระทั่งฉากเล็ก ๆ ที่ดูจะไม่มีอะไรอย่างเช่นการสอนลูกให้เคารพคนที่ดีกับแม่และลูกเลี้ยงด้วยการเปลี่ยนจากพูดว่า good night sir เป็น good night father แล้วพอลิซ่าไปเจอสเตฟานอีกครั้งในรอบ 10 ปี เธอหนีกลับมาเจอลูกบอกลาพ่อเลี้ยงด้วยคำว่า good night father เท่านั้นเราก็รู้การตัดสินใจของตัวละครได้ทันที
• ยังมีฉาก 'อีกสองสัปดาห์เจอกันนะ' ที่ทั้งสเตฟานและลูกของเธอใช้บอกลาตอนขึ้นรถไฟเหมือนกัน โดยรวมแล้วผมชอบวิธีการเล่าเรื่องของหนังเรื่องนี้หลายฉากจนยกให้เป็นส่วนที่ดีที่สุดของหนังเลยครับ
• และคงต้องพูดถึงการที่ลิซ่าไม่ยอมบอกชื่อเธอให้เขารู้ด้วยเหตุผลว่าเขาชอบความลึกลับ ฮ่าๆ
3. One night stand Romance
- หนังเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งหนังที่พูดถึงความสัมพันธ์ 'โรแมนติกในค่ำคืนเดียว' อันที่จริงมันไม่ใช่การพบเจอกันปุ๊บปั๊บปิ๊งกันจบด้วยบนเตียงของทั้งสองฝ่าย แต่เป็นฝ่ายหญิงที่แอบหลงรักเขามานานแล้ว จนกระทั่งเธอกลับมา 'เวียนนา' บ้านเกิดอีกครั้งแล้วได้เจอเขาอีกครั้ง คราวนี้ชายหนุ่มเป็นฝ่ายเข้าหาเธอ ชวนเธอไปเดทสวีทหวานแหววในคืนนั้น
ไฮไลท์ของช่วงโรแมนติกอยู่ที่ฉาก 'รถไฟจำลอง' ครับ (เป็นห้องจำลองตู้โดยสารรถไฟ แล้วมีคนปั่นล้อหมุนให้พื้นหลังที่เป็นวิวในยุโรปเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ) ผมว่าฉากนี้เข้าขั้นคลาสสิกเลยครับ ทั้งบทสนทนาที่ส่งผลต่อช่วงท้ายของหนัง ทั้งเคมีคู่พระนางในฉากนี้ที่เข้ากันดีมาก ๆ เป็นฉากสวีทน่าจดจำไม่แพ้หนังโรแมนติกคลาสสิกเรื่องอื่น ๆ ครับ
ในส่วนของนักแสดงขอโฟกัสไปที่ 'Joan Fontaine' (นักแสดงนำหญิงที่เข้าชิงออสการ์จากหนังดังของฮิตช์ค็อกเรื่อง Rebecca และ Suspicion) เธอเล่นดีมากกกกก แสดงดีทุกช่วงวัยของตัวละครเลยครับ
นอกจากนี้งานเทคนิคการถ่ายภาพอย่างการเคลื่อนกล้อง (camera movement) ค่อนข้างโดดเด่นมาก รู้สึกว่าการวางมุมกล้องตลอดจนการเคลื่อนกล้องมันลื่นไหล ไม่แน่ใจว่ามันโดดเด่นกว่าหนังในยุคเดียวกันด้วยหรือเปล่านะครับ หะหะ
อย่างไรก็ตามผมไม่คิดว่าหนังเรื่องนี้จะถูกใจทุกคน แต่ถ้าใครที่เป็นแฟนหนังโรแมนซ์ดราม่ายังไงก็ต้องชอบครับ
Vienna Romance
"By the time you read this letter, I may be dead."
Director: Max Ophuls
Story: Stefan Zweig, Max Ophuls
Screenplay: Howard Koch
Genre: Drama, Romance
10/10
Comments