top of page
ค้นหา

Brute Force (1947)

  • myfavfilms
  • 21 ก.ย. 2557
  • ยาว 2 นาที

Brute Force (1947)

คำกล่าวที่แสดงถึงการยกย่อง Brute Force ได้อย่างเด่นชัดคือ “มันเป็นหนังที่แฟน The Shakshank Redemption ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง” นั่นแสดงถึงความยอดเยี่ยมของต้นฉบับหนังประเภท prisoner drama ของเหล่านักโทษในเรือนจำที่ถูกกดขี่จากผู้คุม

เปิดเรื่องมาด้วยฉาก ‘คอลลินส์’ (Burt Lancaster) ถูกนักโทษในเรือนจำหาเรื่องจนเขาต้องโดนสั่งขังเดี่ยว ซึ่งเป็นแผนการของ ‘กัปตัน มันซี่ย์’ (Hume Cronyn) หัวหน้าผู้คุมซาดิสหรือคนประเภทที่มีความสุขในการทำร้ายนักโทษ มันซี่ย์ต้องการให้นักโทษในเรือนจำมีปัญหาเพื่อที่เขาจะได้เข้าไปใช้ความรุนแรงจัดการครับ ทำให้เหล่านักโทษในเรือนจำต่อต้านความบ้าอำนาจของมันซี่ย์ โดยเฉพาะคอลลินส์ที่ได้คิดจะหาทางแหกคุกแห่งนี้ให้ได้

ความยอดเยี่ยมของ Brute Force

1. ความอ่อนแอของพัศดีเรือนจำ

หนังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพัศดีเรือนจำแห่งนี้อยู่ภายใต้อำนาจของหัวหน้าผู้คุม เมื่อพัศดีถูกกดดันจากรัฐบาลว่าให้สร้างความเข้มงวดภายในเรือนจำแห่งนี้ โดยที่หมอประจำเรือนจำได้เตือนตัวแทนจากรัฐบาลว่าเหล่านักโทษคือผู้ป่วยจากสังคมที่รอการเยียวยาจากเรือนจำ สิ่งที่ควรทำต่อเหล่านักโทษคือการฟื้นฟูตามสมควร ไม่ใช่การซ้ำเติมย่ำยี่พวกเขา ซึ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก แต่ไม่มีใครฟังความเห็นของหมอครับ

ในขณะที่ ‘กัปตัน มันซี่ย์’ หัวหน้าผู้คุมเองก็ต้องการตำแหน่งพัศดีเรือนจำ เขามองว่าความเมตตาของพัศดีคือความอ่อนแอ และความอ่อนแอทำให้พัศดีเป็นได้แค่ผู้ตามไม่ใช่ผู้นำ สิ่งที่จะทำให้คนเป็นผู้นำได้ก็คือความเด็ดขาดแบบตัวเขา

2. ฉากฆาตกรรมอำพรางว่าเป็นอุบัติเหตุในเรือนจำสุดคลาสสิกซึ่งแสดงให้เห็นถึงความโหดร้าย

หลายคนอาจจะได้เห็นการฆาตกรรมอย่างโจ้งแจ้งในหนังคนคุกทั้งหลาย แต่ถ้าทำแบบนั้นมันจะไม่เนียนและจะทำให้ผู้คุมมีหลักฐานในการหาเรื่องเอาผิดนักโทษได้ง่ายขึ้น เราจึงได้เห็นการบีบให้เหยื่อฆาตกรรมเกิดอุบัติเหตุด้วยตัวเองครับ

ฉากล้างแค้นฉากนี้มันมีที่มาจากตอนต้นเรื่องที่ ‘คอลลินส์’ ต้องโดนขังเดี่ยวครับ เขาโดน ‘วิลสัน’ นักโทษด้วยกันหาเรื่องทำร้ายครับ ซึ่งวิลสันถูกบีบให้มาทำร้ายคอลลินส์โดย ‘กัปตัน มันซี่ย์’ ผู้ซึ่งต้องการหาเรื่องลงโทษนักโทษอยู่แล้ว

ฉากนี้แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายและอิทธิพลของคอลลินส์ที่มีต่อนักโทษคนอื่นครับ เริ่มจากคนดูได้เห็นคอลลินส์นั่งคุยกับหมอเพื่อให้เขาเป็นพยานยืนยันที่อยู่ของเขาในขณะเกิดเหตุ ส่วนนักโทษที่ทำงานในโรงงานเดียวกับวิลสันก็กระซิบส่งแผนต่อ ๆ กันว่า “วิลสัน 10:30” ซึ่งหมายถึงชื่อเหยื่อและเวลาที่จะลงมือ พอทุกคนได้รับคำสั่งโดยทั่วกันแล้ว ก็เริ่มจากมีนักโทษสองคนแกล้งวางมวยใส่กันเพื่อให้ผู้คุมเข้ามาแยก ในขณะที่นักโทษคนอื่น ๆ ก็เริ่มต่อยกันชุลมุนเพื่อให้ผู้คุมคนอื่นเข้ามาช่วยกันห้ามอีกจนไม่เหลือผู้คุมคอยสังเกตการณ์ นักโทษที่ไม่ต่อยกันก็ยังช่วยกันเคาะเหล็กเสียงดังกลบเสียงอย่างอื่นภายในโรงงาน ส่วนวิลสันก็ถูกล้อมด้วยกำลังคนและถูกบีบด้วยถังแก๊สพ่นไฟร้อนให้เดินถอยหลังจนเข้าไปโดนเหล็กขนาดยักษ์ที่ทำงานอยู่ทับตายเสมือนว่าเป็นอุบัติเหตุครับ

3. การตัดสินใจของนักโทษอาวุโสที่ได้รับความเคารพจากเหล่านักโทษ

‘กัลลาเกอร์’ (Charles Bickford) เป็นนักโทษอาวุโสที่ได้รับการนับถือจากเหล่านักโทษและพัศดีเรือนจำ เพราะเขาช่วยเหลือทั้งสองฝ่ายโดยไม่เคยหักหลังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ศัตรูคนเดียวของเขาคือ ‘กัปตัน มันซี่ย์’

เขาปฏิเสธที่จะร่วมแผนแหกคุกของ ‘คอลลินส์’ เพราะเขาได้รับสัญญาจากพัศดีว่าจะได้รับการลดหย่อนโทษในอีกไม่นาน แต่แล้วเมื่อ ‘มันซี่ย์’ เข้ามาแทรกแซงอำนาจลดหย่อนโทษของพัศดีเรือนจำ ความอ่อนแอของพัศดีได้ทำร้ายตัวเขาเองเมื่อเขาสูญเสียความเคารพจาก ‘กัลลาเกอร์’ ซึ่งรู้สึกว่าเขาถูกหักหลังด้วยสัญญาลม ๆ แล้ง ๆ จนนำมาซึ่งความร่วมมือระหว่างนักโทษอาวุโสและผู้นำนักโทษอย่าง ‘คอลลินส์’

4. ความทรงจำถึงหญิงสาวอันเป็นที่รักผู้ซึ่งทำให้พวกเขามีปัญหากับกฎหมาย

ทีเด็ดอีกอย่างนึงของ Brute Force ก็คือการใช้แฟลชแบ็กเล่าเรื่องสั้นถึงหญิงสาวอันเป็นที่รัก ซึ่งเธอเหล่านี้คือผู้ที่ทำให้เขามีปัญหากับกฎหมาย ผมอยากบอกว่าเรื่องสั้นของแต่ละคนนี่โคตรมีสไตล์ เด่นกันไปคนละอย่างเลยครับ จังหวะตัดต่อจบเรื่องของแต่ละคนก็เด็ด

- ‘ฟรอสซี่’ ฉากนี้เป็นเรื่องของนักเล่นพนันที่หลงหญิงสาวจนถูกปล้นเงินปล้นรถไปด้วยปืนของเขาเอง ฉากนี้ผมยกนิ้วให้ความยอดเยี่ยมในการจัดองค์ประกอบภาพเลยครับ แถมการเคลื่อนกล้องก็ไม่ธรรมดาจริง ๆ ว่ากันว่าฉากนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของ ‘เควนติน ทาแรนติโน่’ ทำฉากหนึ่งในหนังเรื่อง Kill Bill vol. 1 ด้วยครับ

- ‘โคร่า’ เรื่องของชายหนุ่มหลงผิดเพราะอยากเอาใจภรรยา เขารู้ว่าโคร่าอยากได้เสื้อโค้ทขนสัตว์ เขาจึงขโมยเงินมาซื้อของให้ภรรยา ฉากนี้ถ่ายทอดความรักและการเลือกเส้นทางผิดสายของชายหนุ่มได้อย่างดีครับ และยังนำมาซึ่งฉากดราม่าชวนหดหู่ระหว่างชายหนุ่มกับผู้คุมมันซี่ย์ด้วยครับ

- ‘จีน่า’ เทคนิคการเล่าเรื่อง การจัดองค์ประกอบฉากเล็ก ๆ ฉากนี้เยี่ยมมากครับ ในช่วงที่ประชาชนในอิตาลี่กำลังขาดแคลนอาหาร ทหารหนุ่มได้ลักลอบขโมยอาหารมาให้แฟนสาวชาวอิตาลี่ แม้เขาจะรู้ว่าพี่ชายของเธอไม่ชอบขี้หน้าเขา แต่แล้ววันนั้นเองที่ผู้ตรวจการณ์ย้อนกลับมาตรวจบ้านหลังนี้อีกครั้ง เขาต้องแกล้งทำเป็นจอดรถมาเติมน้ำ ส่วนเธอต้องยืนยันว่าทหารหนุ่มเป็นเพียงคนแปลกหน้าที่ไม่เคยพบเจอ แต่พี่ชายของเธอไม่ยอมเสี่ยงปกป้องคนรักของน้องสาว จึงเกิดเป็นฉากจบเรื่องสั้นสุดดราม่าแสนประทับใจ

- ‘รูธ’ ฉากนี้เป็นของคอลลินส์ครับ เขาตั้งใจจะปล้นครั้งสุดท้ายเพื่อจะได้ออกจากแก๊งมาดูแลคนรักที่เป็นมะเร็ง ผมประทับใจความรักฉากนี้ตอนที่หญิงสาวพรรณนาว่าถ้าเธอไม่ป่วยก็คงช่วยเหลืออะไรชายหนุ่มได้ แต่ชายหนุ่มกลับตอบว่า “มนุษย์ทุกคนต่างป่วยคนละแบบ บางทีเราอาจจะเป็นคนช่วยเหลืออีกฝ่ายก็ได้” ซึ่งมันสื่อถึงว่าเขาอยากหยุดทำเรื่องไม่ดีเพื่อเธอครับ

5. แผนการแหกคุก

ผมชอบตั้งแต่แผนการแหกคุกที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการศึกครับ อธิบายให้เห็นภาพก่อนว่าคุกแห่งนี้ถูกล้อมด้วยกำแพงสูงที่มีป้อมปราการติดปืนกล ประตูบานใหญ่จะเปิดแค่บางเวลา และถึงหลุดพ้นประตูไปได้ก็ต้องเจอแม่น้ำลึกล้อมรอบเป็นเกาะ ทางออกเดียวคือการเปิดสะพานนั่นเอง แผนการนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการรบชิงพื้นที่บนเนินเขาที่มีเยอรมันยึดครองอยู่ ทางขวาก็เป็นภูเขาสูง ทางซ้ายก็เป็นมหาสมุทร แต่ปัญหาเดียวของพวกเยอรมันคือมีปืนใหญ่ที่สามารถเปิดศึกได้เพียงด้านเดียว ดังนั้นแผนการชิงพื้นที่ก็คือการบุกโจมตีสองด้านพร้อมกันครับ ซึ่งนักโทษก็ได้นำมาดัดแปลงใช้โจมตีสองด้านพร้อมกัน โดยคอลลินส์ได้แอบวางแผนกับกัลลาเกอร์เพียงสองคน โดยต่างฝ่ายต่างจะไปถ่ายทอดถึงคนสนิทโดยไม่บอกว่ามีอีกฝ่ายร่วมมือด้วย

6. โกลาหล

ฉากจบมันเริ่มมาจากแผนล่มครับ เมื่อมีหนอนบ่อนไส้ในกลุ่มนักโทษคาบข่าวไปรายงาน ‘มันซี่ย์’ แต่ตัวผู้คุมไม่สามารถหาความเชื่อมโยงระหว่างคอลลินส์กับกัลลาเกอร์ได้ เขาจึงทำได้เพียงเพิ่มกำลังเฝ้าระวังแผนแหกคุก ส่วนคอลลินส์ก็ได้หาทางจับผิดว่าใครเป็นหนอนบ่อนไส้ด้วยการถามคำถามเดียวกันกับทุกคน แต่ว่าฉากจบจะเป็นอย่างไรนั้นต้องไปชมกันเองครับ

7. ผู้คุมมันซี่ย์

หลังดูจบผมต้องยกให้เป็นหนึ่งในตัวละครที่น่าจดจำทันทีครับ ด้วยการแสดงชั้นเยี่ยมของ ‘Hume Cronyn’ ที่เรียกว่าเป็นตัวร้ายหน้าตายเลยครับ ไม่ต้องแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราด แต่คนดูก็สัมผัสได้ถึงความโหดร้ายเยือกเย็นภายในตัวเขา ซึ่งมีคนยกไปเปรียบเทียบกับ ‘ผู้การลินดา’ ใน Inglourious Basterds ด้วยครับ

ผมขอยืนยันเลยว่า Brute Force เป็นหนึ่งในหนังฟิล์มนัวร์ดราม่านักโทษชั้นเยี่ยม และยิ่งตอกย้ำว่า Jules Dassin เป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งตลอดกาล แต่การที่เขาไม่ได้รับการยกย่องเท่าที่ควร อาจจะเป็นเพราะเขาเคยสังกัดพรรคคอมมิวนิสต์ในอเมริกาตั้งแต่ปี 1934 แม้ว่าเขาจะลาออกจากพรรคเมื่อปี 1939 แต่ในปี 1952 เขาก็ยังถูกตัดสินยัดเยียดว่าเป็นคอมมิวนิสต์ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่เขาเป็นลูกครึ่งรัสเซีย-ยิว ทำให้เขาติดแบล็กลิสของประเทศสหรัฐอเมริกาต้องอพยพไปทำหนังในยุโรปจนมีผลงานโด่งดังที่ฝรั่งเศสอย่างเช่น Rififi ซึ่งทำให้เขาได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมื่อคานส์ และตัวหนังก็กลายเป็นตำนานของหนัง heist films อีกด้วยครับ

ตอนหลังเมื่อกลุ่มล่าแม่มดในอเมริกาเริ่มเสื่อมตัวลงไป ชื่อของ Jules Dassin ก็กลับมาได้รับการยอมรับอีกครั้งในอเมริกา จนทำให้เขามีชื่อเข้าชิงออสการ์จากหนังรอมคอมเรื่อง Pote tin Kyriaki หรือชื่ออังกฤษว่า Never on Sunday ครับ

ใครสนใจผลงานของ Jules Dassin ผมขอแนะนำให้ตามผลงานเด่นของเขาทั้ง 5 เรื่องใน Criterion ก่อนเลยครับ เรียงตามความชอบของผมเองนะครับ Rififi > Night and the City > Brute Force > The Naked City > Thieves’ Highway

"When people are sick you don't cure them by making them sicker!"

Director: Jules Dassin

Story: Richard Brooks

Screenplay: Richard Brooks

Genre: Crime, Drama, Film-noir, Thriller

9.5/10

 
 
 

Comments


Recent Posts
Search By Tags
follow us:
  • Facebook Classic
  • Twitter Classic
  • images.jpg
  • c-youtube
bottom of page